การประเมินผลงานศิลปะ

ประเมินผลงานศิลปะ*

ศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม

งานศิลปะที่ผลิตออกมานั้นย่อมมีความแตกต่างระหว่างบุคคลเพราะเป็นผลจากการ ที่บุคคลดึงเอาการรับรู้ ความประทับใจที่ได้จากประสบการณ์ในอดีตมาใช้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงยากที่จะทำให้ผลงานนั้นออกมาในลักษณะที่เหมือนกัน แม้ว่าจะได้รับการสอนแบบเดียวกัน งานศิลปะมิได้มีไว้สำหรับการฝึกใช้มือ ใช้อุปกรณ์หรือฝึกการรับรู้ในเรื่องเส้นรุ้งเส้นแวง มุม เงา สี เท่านั้น หากยังแสดงถึงเจตคติการรับรู้อันเป็นความสามารถเฉพาะบุคคลอีกด้วย เด็กทุกคนแม้อายุเท่ากัน สมรรถภาพในการใช้มือ การรับรู้อันเป็นความสามารถก็ไม่เท่ากัน การแสดงออกทางศิลปะ จึงมีความแตกต่างกันอย่างกว้างขวางตามประสบการณ์

การประเมินผลงานทางศิลปะ จึงควรเป็นเรื่องของการช่วยให้เด็กมีพัฒนาการต่อไป มากกว่าจะทำให้เด็กท้อแท้ เบื่อหน่าย   การวิจารณ์ผลงานที่ดีในที่ประชุม ย่อมทำให้เจ้าของผลงานที่ไม่ดีมองเห็นตัวเองได้ดีกว่าการตำหนิผลงานที่ไม่สม ใจครู ครูจะต้องเข้าใจเด็ก เข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการของเด็ก เข้าใจถึงความสามารถ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ครูสอนศิลปะจึงควรมองผลงานของเด็กของตนเป็นศิลปินแค่ไหน หรือเป็นช่างศิลปะเพียงไร โดยเฉพาะครูศิลปะในชั้นประถมน่าจะมองศิลปะในฐานะที่เป็นวิชาสามัญวิชาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้ผ่อนคลายอารมณ์ มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าที่จะฝังใจว่าการเรียนศิลปะได้จะต้องมีหัว มีพรสวรรค์ หรือมีปัญญาเลิศเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้การวัดผลการเรียนวิชาศิลปศึกษาจึงควรน่าจะมุ่งวัดระดับความ เจริญงอกงามที่เกิดขึ้นจากการเรียนและการประกอบกิจกรรมทางศิลปะซึ่งจะเป็น ผลดีต่อนักเรียนและครู กล่าวคือ นักเรียนก็จะได้ทราบว่าตนเองมีความสามารถและมีความถนัดด้านใดบ้าง ควรแก้ไขปรับปรุงในด้านใดบ้าง ครูเองก็สามารถหาทางแก้ไขปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาได้

การประเมินผลการเรียนวิชาศิลปศึกษาที่สำคัญ ก็คือ การวัดพัฒนาการของนักเรียนในด้านการสร้างสรรค์สุนทรียภาพ การรับรู้ อารมณ์ สติปัญญา สังคม และการวัดพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนการสอนวิชาศิลปะ

ในด้านความรู้ ความเข้าใจ ความคิด ความนิยมในศิลปเจตคติ ทักษะและการนำไปใช้ได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้ คือ

ก.การวัดพัฒนาการ ด้านต่างๆ
พัฒนาการในด้านต่างๆ ที่เกิดจากการเรียนการสอนวิชาศิลปศึกษา แบ่งได้เป็น 6 หมวดใหญ่ๆ คือ

1.  พัฒนาการทางการสร้างสรรค์ สามารถคิดดัดแปลง แก้ปัญหา ทำสิ่งต่างๆ ให้ดีมีคุณค่ากว่าเดิมได้ นักเรียนแสดงออกโดยการวางแผนงาน ออกแบ วัดผลได้โดยการทดสอบและการสังเกต
1.1  การทำงานได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องคอยถามผู้อื่น
1.2  มีความเชื่อมั่นในความคิดของตน
1.3  ไม่ลอกแบบของผู้อื่น
1.4  สามารถออกแบบได้รวดเร็ว แน่นอน ทันที
1.5  มีลักษณะการแสดงออกแตกต่างกับคนอื่น และงดงามดีด้วย

2.  พัฒนาการทางสุนทรียภาพ สามารถรู้และเข้าใจในคุณค่าทางศิลปะอย่างมีหลักเกณฑ์
นักเรียนแสดงออกโดยสามารถเข้าใจและนิยมในศิลปะ วัดผลได้โดยการทดสอบการสังเกตสัมภาษณ์และแบบสำรวจ
2.1  ความนิยมเข้าใจที่เกิดจากความรู้สึกภายใน
2.2  ความนิยมเข้าใจที่อาศัยประสบการณ์และการปฏิบัติทางศิลปะ
2.3  มีความเข้าใจและใช้หลักการทางสุนทรียภาพได้ถูกต้องเหมาะสม
2.4  สามารถเลือก แบ่งแยก และให้เหตุผลทางศิลปะที่ดี

3. พัฒนาการทางการเรียนรู้ สามารถสังเกตเข้าใจในงานศิลปะถูกต้องตามหลักศิลปะ นักเรียนแสดงออกโดยการอธิบายการให้เหตุผลในความงามอย่างถูกต้อง การวัดความสามารถในด้านที่ทำได้โดยการทดสอบ การสังเกต การสัมภาษณ์
3.1  การสังเกตถึงความถูกต้องของงาน ตามหลักเกณฑ์ของงานศิลปะ เช่น  แสงเงา ความตื้นลึก
3.2  ความรู้สึกที่เกิดจากการดูงานศิลปะ เช่น ความรู้สึกในเรื่องพื้นผิวอ่อน แข็ง
3.3  ความรู้สึกในการเคลื่อนไหว เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกายและสิ่งของ

4. พัฒนาการทางด้านสติปัญญา มีความสามารถในด้านต่างๆ สามารถจดจำได้ละเอียด ถูกต้อง ฉลาดเฉียบแหลม การแสดงออกโดยการแก้ปัญหาได้ดี การวัดผลโดยการสังเกต การทดสอบ
และการสัมภาษณ์
4.1  สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ถูกต้องมีรายละเอียดมาก และงดงาม
4.2  การใช้หลักการทางศิลปะได้เหมาะสม เช่น การใช้สีในการออกแบบ
4.3  มีความรู้ในเรื่องต่างๆ ได้ละเอียดถูกต้องมาก

5.  พัฒนาการทางด้านอารมณ์ มีความสามารถแสดงออกอย่างอิสระ และควบคุมอารมณ์ได้ มีความมั่นใจในการทำงาน พัฒนาการทางด้านอารมณ์ รวมไปถึงสุขภาพจิต ความมั่นคงทางอารมณ์และพัฒนาการทางบุคลิกภาพด้วยการแสดงออกโดยการทำงานได้ อย่างสุขุมเป็นระเบียบ และควบคุมได้เหมาะสม การวัดได้โดยการสังเกต การสัมภาษณ์
5.1  การสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างอิสระ มีความเชื่อมั่นในการทำงาน
5.2  มีความเป็นระเบียบในการทำงาน

6. พัฒนาการทางกาย มีความสามารถในการปฏิบัติทางศิลปะ ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ได้คล่องแคล่วมั่นคงไม่เป็นอันตราย มีความแน่อนแนะลไม่นยำในการทำงาน การแสดงออกโดยการปฏิบัติ และการเคลื่อนไหว การวัดโดยการสังเกต การสัมภาษณ์และการทดสอบ
6.1  มีทักษะในการเขียน ปั้น และการใช้เทคนิคต่างๆ ได้คล่องแคล่วว่องไว
6.2  ลักษณะภาพที่แสดงออก มีความสัมพันธ์ในการฝึกเขียน และความรู้สึก

7.  พัฒนาการทางด้านสังคม มีความสามารถเข้าใจในสิ่งแวดล้อม เข้าใจความต้องการของผู้อื่น และสามารถเข้าใจกับผู้อื่นได้อย่างเป็นสุข การแสดงออกโดยการทำงาน การประสานงาน การคิดและการเข้าใจผู้อื่น การวัดโดยการสังเกตการณ์สัมภาษณ์และการทดสอบ
7.1  มีประสบการณ์ในสิ่งแวดล้อมดี สามารถแสดงออกในงาทนศิลปะได้ถูกต้อง
7.2  มีความเข้าใจในการแสดงออกของผู้อื่นได้
7.3  มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และมีความสุขในการทำงาน
7.4  มีความเข้าใจในวัฒนธรรมต่างๆ ของผู้อื่น

ข.การวัดพฤติกรรม ด้านต่างๆ
1.  ในด้านความรู้ความสามารถ ทราบและจำเรื่องราวของประสบการณ์ที่ได้รับ รวมทั้งประสบการณ์ที่สัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง แสดงออกโดยการระลึกถ่ายทอด สามารถวัดได้โดยการทดสอบ การสัมภาษณ์ – การสังเกต
1.1  ความรู้เกี่ยวกับศัพท์เฉพาะทางศิลปะ
1.2  ความรู้เกี่ยวกับประวัติทั่วไปของศิลปะ
1.3  ความรู้เกี่ยวกับวัสดุและขบวนการทำ

2. ในด้านความเข้าใจ สามารถเข้าใจในคุณค่าและหลักการของศิลปะจนประเมินผลงานของศิลปะนั้นได้ การแสดงออกโดยการอธิบาย การวัดโดยการทดแทน การสังเกตและการสัมภาษณ์
2.1  ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างทางศิลปะ
2.2  ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ กฎ และการสร้างสรรค์งานศิลปะ
2.3  ความสามารถในการประเมินผลงานของศิลปะ
2.4  ความสามารถในการให้เหตุผลในการพิจารณา

3.  ในด้านความคิดและการออกแบบ สามารถแก้ปัญหาในการออกแบบ วัดได้โดยการทดสอบ การสังเกต และการแสดงความคิดเห็น
3.1  ความสามารถในการแก้ปัญหาในการออกแบบ
3.2  ความสามารถในการสร้างและแสดงความสมเหตุสมผลของการออกแบบ

4. ในด้านศิลปนิยม มีความรู้และความเข้าใจในคุณค่า และความสำคัญของงานศิลปะแสดงออกโดย การอธิบายนิยาม สามารถวัดได้โดยการสัมภาษณ์ สังเกต การทดสอบ การจัดอันดับ คุณภาพ และแบบภาพต่างๆ
4.1  ความนิยมในศิลปะที่เกิดจากความรู้สึกภายใน
4.2  ความนิยมที่อาศัยประสบการณ์และปฏิวัติ
4.3  การอธิบายและประเมินผลงานศิลปะ

5. ในด้านเจตคติและความสามารถ มีความเชื่อ ความนิยม และสนใจที่จะปฏิบัติตามความเชื่อ แสดงออกโดยการคิดตามความเชื่อ การร่วมในกิจกรรมอย่างสุขใจ สามารถวัดได้โดยการจัดอันดับคุณภาพ
5.1  ความเชื่อมั่นในการทำงานของตน
5.2  ความสนใจในการเรียนและตั้งใจ

6. ในด้านทักษะและการนำไปใช้ มีความสามารถในการใช้วัสดุและเครื่องมือได้ถูกต้อง รวดเร็ว สามารถสร้างสรรค์งานได้รวดเร็ว และประหยัด แสดงออกโดยการปฏิบัติงานการใช้วัสดุเครื่องมือ การแก้ปัญหา และการนำไปใช้ วัดได้โดยการสังเกตและแบบทดสอบ

6.1  ความสามารถในการให้แสง สี และเงา
6.2  ความสามารถในการเขียนภาพด้วยสีต่างๆ
6.3  ความสามารถในการใช้วัสดุและเครื่องมือ
6.4  ความสามารถในการทำงานศิลปะได้เรียบร้อยตามกำหนด
6.5  ความสามารถในการนำไปใช้ได้เหมาะสม
6.6  ความสามารถในการแก้ปัญหา การใช้ทั่วไป
6.7  ความสามารถในการมองเห็นแบบ ลักษณะโครงสร้างทางศิลปะที่เหมาะสมในการความงามและการใช้สอย

การวัดผลวิชาศิลปศึกษา ครูควรอธิบายให้คะแนน ให้นักเรียนทราบโดยเฉพาะการวัดผลในด้านความรู้ ทักษะการออกแบบ และการนำไปใช้ ครูอาจจะบอกให้นักเรียนทราบจะให้คะแนนในหัวข้อใด ข้อละเท่าไร เพื่อจะได้เป็นมาตรฐานให้นักเรียนได้มีโอกาสตรวจทานแก้ไขปรับปรุง การทำงานของตนให้เรียบร้อยก่อนที่จะส่งงานชิ้นต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

ศรียา นิยมธรรม.  (2544 ).  ศิลปะกับเยาวชน. กรุงเทพฯ : สันติศิริการพิมพ์.

คัดลอกบทความเรื่อง เส้นทางศิลปะกับการพัฒนาเด็กอย่างเข้าใจ ศิลปะเจ้าตัวน้อยสู่ศิลปินอารมณ์ดี*