พัฒนาการทางศิลปะเด็ก 4-7 ปี

ขั้นเริ่มต้นเขียนภาพให้มีความหมาย (Preschematic Stage) เด็กในขั้นพัฒนาการนี้จะมีอายุประมาณ 4-7 ปี เด็กจะเริ่มเปลี่ยนจากกิจกรรมการเคลื่อนไหวมาสร้างความสัมพันธ์ของภาพที่ เขียนกับสิ่งแวดล้อม ภาพที่เขียนเริ่มสื่อความหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามขั้นอายุและวุฒิภาวะของเด็ก

เด็กจะเริ่มแทนด้วยรูปง่าย ๆ ซึ่งมักจะเป็นวงกลมและศีรษะ การพัฒนาจะค่อยเป็นค่อยไป จากหัวกลมมีเส้นดิ่งเป็นขา อันเป็นลักษณะเด่นของพัฒนาการในขั้นนี้ เนื่องจากกิจกรรมที่เด็กทำเสมอ ๆ คือ กิน และเล่น หัวมีปากไว้กินอาหาร และเท้าไว้สำหรับวิ่งเล่น กิจกรรมทั้งสองนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก และเมื่อเด็กโตขึ้นก็สามารถพัฒนาต่อไป มีแขนอยู่ข้างขา หรือหัว และจะค่อย ๆ สมบูรณ์มากขึ้น สัญลักษณ์เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ เพราะเด็กกำลังแสวงหาภาพที่ตนเองพอใจ แม้กระทั่งการเขียนในเวลาเดียวกัน เด็กก็สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดได้ตลอดเวลา

เด็กวาดภาพสิ่งที่เขาสนใจมากกว่าความเป็นจริง หรือสิ่งที่เขารู้ ถึงแม้ว่าเด็กเริ่มสื่อความหมายของภาพได้ แต่การแสดงออกก็ยังเป็นไปในลักษณะที่เด็กเข้าใจ หากพิจารณาพื้นที่ว่างภายในภาพจะพบว่ายังไม่มีระเบียบ สิ่งต่าง ๆ ในภาพไม่สัมพันธ์กัน การระบายสีของสิ่งต่าง ๆ ในภาพจะเป็นไปตามใจชอบ ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง นอกจากสีของสิ่งที่ประทับใจเท่านั้น ที่เด็กอาจใช้ได้ตรงความเป็นจริงและยังไม่รู้จักการออกแบบ

ในช่วงของการเขียนภาพเริ่มมีความหมายนั้นสามารถแบ่งออกตามอายุได้ดังนี้

-อายุประมาณ 4 ปี การวาดภาพมีลักษณะที่พอเข้าใจได้ สามารถเดาได้

-อายุประมาณ 5 ปี เด็กสามารถวาดภาพได้ชัดเจนมากขึ้น รูปที่วาดมักเป็นรูปคน บ้าน หรือต้นไม้ ยังไม่มีการจัดภาพ การใช้สีตามความพอใจไม่คำนึงถึงความเป็นจริง

-อายุประมาณ 6-7 ปี สามารถแสดงออกเป็นภาพได้ชัดเจน แต่มีความแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเด็ก

ลักษณะการวาดภาพของเด็กตามพัฒนาการในขั้นนี้ สังเกตได้จากส่วนประกอบในภาพดังนี้

การวาดภาพคน เด็กจะเขียนวงกลมแทนศีรษะ มีเส้นยาวแทนแขนและขา ยังไม่มีลำตัวในระยะต้น เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น จะแสดงออกเป็นลำตัว และมีรายละเอียดของใบหน้าเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของส่วนนั้น

การใช้สี เด็กจะใช้สีตามอารมณ์ ยังไม่สามารถใช้สีอย่างถูกต้อง เด็กจะใช้สีที่สะดุดตา และความชอบส่วนตัวเป็นหลัก ไม่มีความสัมพันธ์กับความเป็นจริง แต่บางครั้งเด็กอาจใช้สีใดสีหนึ่งตรงกับความเป็นจริง เมื่อเด็กมีความประทับใจสีนั้น ๆ

การใช้พื้นที่ว่าง เด็กยังไม่เข้าใจว่าควรจะวาดภาพตรงส่วนใดจึงจะเหมาะสม ภาพวาดจึงขาดระเบียบ บริเวณพื้นที่ใดว่าง เด็กก็มักจะวาดสิ่งต่าง ๆ ลงในบริเวณนั้น โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่เด็กวาดจะไม่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างเลย

การออกแบบ เด็กยังไม่เข้าใจการออกแบบ จึงยังไม่มีการออกแบบ

คำอธิบายลักษณะพัฒนาการทางศิลปะในด้านการวาดภาพระบายสีขั้นที่สอง ของเด็กอายุ 4-7 ปี ตามหลักทฤษฎีของ วิคเตอร์ โลเวนเฟลด์

ดังนั้น  จงเตรียมกระดาษและดินสอสีไว้เพื่อพัฒนาการที่ดีของเด็กๆ