มองภาพวาดของเด็กอย่างไร ว่าภาพไหนสวย?

เมื่อพูดถึงงานศิลปะเด็ก ผู้ใหญ่หลายคนอาจยอมรับว่า ดูงานศิลปะเด็ก ไม่เป็นไม่รู้ว่าภาพไหนสวยหรือไม่สวย

โดย เฉพาะเมื่อมีการประกวดวาดภาพในระดับต่างๆ ก็มักจะเกิดข้อสงสัยและข้องใจในผลการตัดสินจากคณะกรรมการ หรือแม้แต่ในกลุ่มของคณะกรรมการเอง แต่ละคนก็มักจะมีความเห็น มีมุมมองต่อผลงานศิลปะเด็กที่แตกต่างกัน นั่นเป็นเพราะว่า การตัดสินงานศิลปะเด็กนั้นไม่มีเกณฑ์ตายตัวเหมือนวิชาอื่นๆ ที่สามารถวัดได้ด้วยผลคะแนนที่แน่นอน อย่างไร ก็ตามงานศิลปะเด็กก็ใช่ว่าไม่มีแนวทางในการพิจารณาผลงานเลยผู้เขียนจึงขอนำ เสนอทัศนะเกี่ยวกับศิลปะเด็ก จากนักวิชาการด้านศิลปะเด็ก ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ทั้งสำหรับครูผู้สอนศิลปะ ผู้ปกครอง เพื่อใช้เป็นแนวทางส่งเสริมการเรียนการสอนศิลปะในห้องเรียน ประกอบการพิจารณาผลงานศิลปะของเด็ก และเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมเด็กโดยใช้กิจกรรมศิลปะ

มองศิลปะเด็ก ต่างจากศิลปะของผู้ใหญ่ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจแนวคิดในการมองผลงานศิลปะเด็ก ซึ่งการมองผลงานศิลปะเด็กนั้นแตกต่างจากการมองศิลปะของผู้ใหญ่ (อรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย,2548) ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะเด็กท่านหนึ่งได้กล่าวว่า ” แม้แต่ศิลปินวาดภาพฝีมือฉกาจก็อาจขาดความเข้าใจในศิลปะเด็ก ซึ่งต้องใช้เกณฑ์คนละอย่างมาวัด ต่างจากศิลปะของผู้ใหญ่ที่เน้นในเรื่องของฝีมือมากกว่า” (สังคม ทองมี,2546) ก็ได้กล่าวว่า “ครูยังต้องทราบพัฒนาการทางด้านศิลปะของเด็กด้วย เพราะแต่ละวัยมีการแสดงออกที่แตกต่างกัน” จากความคิดเห็นดังกล่าว ทำให้ทราบว่าคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะสอนศิลปะเด็ก หรือผู้ที่จะพิจารณาผลงานศิลปะเด็กที่ขาดไม่ได้คือ ต้องมีความเข้าใจ และคำนึงถึงพัฒนาการของเด็ก หรือธรรมชาติการแสดงออกในช่วงวัยของเขาด้วย

มองจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของศิลปะ เด็ก การเรียนการสอนศิลปะสำหรับเด็ก การจัดกิจกรรมศิลปะต่างๆ เพื่อส่งเสริมเด็ก หรือแม้แต่การจัดประกวดผลงานศิลปะเด็ก ในระดับต่างๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องไม่ลืมจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ของวิชาศิลปะสำหรับเด็ก นั่นคือให้ผู้เรียนมีจิตใจที่ดีงาม มีสุนทรียภาพ เห็นคุณค่าและชื่นชมผลงานศิลปะ มีจินตนาการความคิด สามารถแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบ และทำงานกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (กรมวิชาการ, 2544) “จุดประสงค์สำคัญของการทำงานศิลปะนั้นเพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการที่ดีทาง ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา รวมถึงมีความสุข มีจินตนาการ และมีความมั่นใจในการแสดงออก” (อนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย, 2548) ” เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกทางศิลปะเพื่อพัฒนาความคิดริเริ่มสร้าง สรรค์ จินตนาการ และปลูกฝังอุปนิสัยที่ดีงามลงในตัวเด็ก” (เลิศ อานันทนะ, 2538) ” การสอนศิลปะไม่ใช่เพื่อให้คนเป็นศิลปิน แต่สอนให้คนเป็นผู้ที่เห็นคุณค่า สามารถชื่นชมความงาม และสุนทรียภาพได้ ” (สังคม ทองมี, 2546) เมื่อเราเข้าใจพัฒนาการ และการแสดงออกตามธรรมชาติของเด็ก ประกอบกับเข้าใจจุดมุ่งหมายการใช้กิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาส่งเสริมเด็กแล้ว จึงไม่ควรคาดหวังว่า ผลงานศิลปะนั้นจะเป็นไปตามรูปแบบที่ผู้ใหญ่หลายคนคิดว่าสวย เช่น การจัดภาพตามหลักองค์ประกอบแบบงานศิลปะผู้ใหญ่ (มัธยมขึ้นไป) ภาพที่วาดเลียนแบบได้เหมือนกับของจริงทั้งรูปร่างและสี หรือแม้แต่การตีเส้นกรอบ การแบ่งช่องในภาพ และการตัดเส้นอย่างเรียบร้อยระมัดระวัง รวมทั้งเนื้อหาของภาพที่ทำตามคำชี้แนะของผู้ใหญ่ หรือตามรูปแบบที่ทำตามๆ กันมาแล้วได้รางวัล เหล่านี้กลายเป็นกรอบในการปิดกั้น การแสดงออกตามจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์อันสนุกสนานและใสซื่อ ของตัวเด็กเอง คำกล่าวของ ไอน์สไตน์ ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” (Imagination is more importany than Knowledge) (Einstein, 1879-1955) น่าจะยืนยันและให้ความหมายได้ดีว่า เรื่องราวความคิดในจินตนาการ อันบริสุทธิ์ของเด็กต่างหากที่น่าสนใจ มากกว่าฝีมือ ความชำนาญในเทคนิคและขั้นตอนการสร้างภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และแม้ว่าจะถูกฝึกฝนมาอย่างดีก็ตาม

ตัดสินอย่างไรว่าภาพไหนสวย กิจกรรมการ ประกวดวาดภาพและรางวัลนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ สำหรับศิลปะเด็ก แต่สามารถใช้เป็นเป็นกิจกรรมหนึ่ง (นอกเหนือจากกิจกรรมศิลปะในโรงเรียนที่ครูสามารถสร้างสรรค์ได้) ที่ใช้กระตุ้นการแสดงออกทางความคิดและจินตนาการของเด็กได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้กิจกรรมการประกวดเป็นไปเพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ดี ต่อศิลปะเด็ก ผู้เขียนจึงนำเสนอกรอบแนวคิด เกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินภาพวาด ดังนี้
1. ด้านเนื้อหาเรื่องราวของภาพ ควรให้ความสำคัญด้านเนื้อหาเรื่องราวของภาพอย่างมาก ซึ่งผลงานบางชิ้นอาจมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสวยงาม มีเทคนิค ฝีมือดี แต่กลับถ่ายทอดเนื้อหาไม่ได้
2. ด้านความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ความคิดสร้างสรรค์ด้านเนื้อหา การใช้สี การจัดภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นผลงานที่มีความโดดเด่น แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่เคยมีมา
3. ด้านองค์ประกอบของภาพ ได้แก่
3.1 การร่างภาพ ได้แก่ความสามารถในการร่างภาพ ร่างรายละเอียดต่างๆ ของภาพ รวมทั้งการใช้เส้นที่แสดงออกอย่างมั่นใจ
3.2 การจัดภาพ ได้แก่ความสมดุลของภาพ (ซ้าย – ขวา/ บน- ล่าง) ความมีเอกภาพของภาพ ควบคุมได้ไม่กระจัดกระจายจนเกินไป และการเน้นจุดสนใจในภาพภาพ
3.3 ทักษะการใช้วัสดุ ได้แก่ความสามารถในการระบายสี
การ เลือกใช้คู่สีได้สวย ความหลากหลายของสีในภาพ การแทนค่าสีอ่อน- แก่ อาจมีการระบายแสดงร่องรอยฝีแปรง (จังหวะ-ทิศทางเส้นสีที่ระบาย) แสดงถึงความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดกับเด็กเล็ก(อนุบาลถึง ป.3) มากกว่าเด็กโต
3.4 ความงามทางศิลปะ ได้แก่ ความกลมกลืนของเส้น สี พื้นผิว รูปร่าง
4. ด้านการเปรียบเทียบผลงานกับพัฒนาการการวาดภาพของเด็ก โดยพิจารณาว่าผลงานนั้น เหมาะสมเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กหรือไม่
5. มีความมั่นใจในการแสดงออก โดยดูจากการร่างภาพที่ใช้เส้นแสดงออกถึงความมั่นใจ การระบายสีที่แสดงร่องรอยฝีแปรง เป็นต้น
6.ความบริสุทธิ์ของงานที่ปราศจากความคิดของผู้ใหญ่ชี้นำ ข้อนี้ สำคัญมากเพราะเด็กที่วาดภาพบางคนอาจจะคำนึงถึงคำชี้นำหรือการฝึกฝนจากครู หรือผู้ปกครองมาก ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีกับความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก เพราะเท่ากับเป็นการให้ผู้ใหญ่มาช่วยเติมแต่งความคิดของเด็ก ทำให้งานชิ้นนั้นเสียความบริสุทธิ์และคุณค่าของงานก็หายไปด้วย ดังนั้นในการพิจารณาผลงานศิลปะเด็ก ครูหรือผู้ปกครองจึงควรจะมีความละเอียด เพื่อให้ได้ผลงานที่ค่อนข้างมีความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาให้ได้มากที่สุด

บทบาทผู้ใหญ่ในการส่งเสริมศิลปะเด็ก
ศิลปะเปรียบเหมือนกับเครื่องมือในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ความคิดสร้างสรรค์นี้มีความสำคัญมากสำหรับบุคคล เป็นความสามารถในการคิดหลายทิศทาง หลายแง่มุม คิดได้กว้างไกล นำไปสู่การคิดในสิ่งที่แปลกใหม่ รวมถึงการค้นพบวิธีแก้ปัญหาได้สำเร็จ (Guilford, 1950 อ้างถึงใน อารี พันธ์มณี, 2546 : 3) การส่งเสริมศิลปะเด็ก สามารถทำได้โดยครูและผู้ปกครองเป็นผู้สร้างสรรค์ ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดแทรกคุณธรรม ศิลปะนิสัยที่ดีงาม ประกอบกับครูและผู้ปกครองต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของวิชาศิลปะ เข้าใจการแสดงออกตามธรรมชาติของวัย และคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเด็กแต่ละคน หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบผลงานระหว่างเด็กกับเพื่อน แต่ชื่นชมในเรื่องราวที่เด็กแต่ละคนถ่ายทอดออกมา ให้กำลังใจกับพัฒนาการที่ดีขึ้นในผลงานของเขา ศิลปะเด็กนั้นโดยแท้จริงเป็นเรื่องง่าย ที่เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้และแสดงออกได้โดยมิได้จำกัดเฉพาะเด็กที่วาดรูป เก่งเท่านั้น เช่นเดียวกับคำกล่าวของครูสังคม ทองมี ที่ว่า ” เด็กทุกคนมีจินตนาการ มีความคิดที่อยากจะแสดงออก ไม่ว่าอยู่ในสถานภาพใด ก่อนที่จะให้วิชาและส่งเสริมเด็กจะต้องดูพื้นฐานเด็กเสียก่อน การสอนศิลปะไม่ใช่สอนให้ทุกคนในห้องทำตามกัน สิ่งสำคัญคือบรรยากาศของความมีเสรีภาพ มีอิสระทางความคิด ให้เขาได้แสดงเต็มที่ในสิ่งที่เขาคิดฝัน”

ได้ทราบอย่างนี้แล้วคงจะทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจศิลปะเด็กๆกันมากขึ้นนะคะ

ที่มาจาก http://www.learners.in.th/blogs/posts/421639